<<<<<>>>>>

หลวงปู่ทวด วัดช้างให้
Custom Search

หลวงปู่ทวด

16.2.55

หลวงปู่ทวดหลังเตารีด


หลวงปู่ทวดหลังเตารีด
ในอดีตเมื่อเวลาใช้กล้องส่องดูพระหลังเตารีด ท่านผู้รู้ทั้งหลาย หรืออาจารย์ก็จะคอยบอกให้สังเกตดูร่องรอยตะไบด้านข้างองค์พระบ้าง ด้านหลังองค์พระบ้าง ด้านหน้าองค์พระบ้าง ผู้เขียนเป็นคนโชคดีที่ได้รู้จักกูรู(ปราชญ์ผู้รู้)ทางด้านหลวงพ่อทวดหลายคน อาทิเช่นโกหมิ่น หาดใหญ่ คุณภิยวัฒน์ วัฒนายากร(แต๊ก สงขลา) คุณชัยนฤทธิ์ เพชรพันธุ์ทอง ฯลฯ

เมื่อปีที่แล้ว(2551)ผู้เขียนได้มีโอกาสได้คุยกับโกหมิ่น หาดใหญ่ เรื่องการหล่อพระหลวงพ่อทวดหลังเตารีด ซึ่งเป็นการหล่อแบบโบราณ เป็นธรรมดาอยู่แล้วที่การหล่อพระฯแบบนี้ จะต้องมีเนื้อเกินขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย ช่างผู้หล่อพระฯก็จะมีการแต่งพระองค์ที่มีเนื้อเกินดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะเอามาแจกจ่ายให้ผู้ศรัทธานำไปบูชา และได้มีการพูดถึงเรื่องการแต่งพระฯว่าใช้ตะไบแต่งพระฯจริงหรือไม่ โกหมิ่นท่านได้ถามผู้เขียนขึ้นมาว่า “แพะ คิดว่าเป็นอย่างไร เป็นไปตามที่เขาพูดมาหรือไม่” ผู้เขียนก็ตอบไปโดยไม่ได้คิดว่า “ก็เขาว่าเป็นรอยตะไบ” โกหมิ่นท่านพูดกับผู้เขียนว่า “ในความคิดเห็นของโกหมิ่น ๆ ว่าน่าจะเป็นรอยหินเจียรมากกว่า” แล้วท่านก็ยกหินเจียรตามที่ท่านผู้อ่านเห็นดังรูป ออกมาให้ผู้เขียนดู แล้วอธิบายให้ผู้เขียนฟังเสียยกใหญ่ ดังจะสรุปมาให้ได้อ่านดังนี้

- ถ้าใช้ตะไบแต่งด้านหลัง เราจะเอาอะไรมาจับองค์พระฯเพราะเวลาตะไบนานๆจะเกิดความร้อนจะเอามือจับก็ไม่ได้ ถ้าใช้ปากกาจับชิ้นงานหรือกรามเสือ(ต่อไปจะใช้คำว่ากรามเสือ)จับก็ต้องบีบแรงถึงจะอยู่ พระฯก็จะต้องบี้ บุ๋มเข้าไป แต่ไม่เห็นพระหลวงพ่อทวดหลังเตารีดเป็นแบบนั้นสักองค์ แล้วด้านข้างพระฯก็โค้งถ้าใช้กรามเสือบีบก็ต้องเด้งขึ้น–ลง เวลาลงตะไบถูก็ลำบากมาก

- ด้านขอบข้างองค์พระฯ ถ้าใช้ตะไบแต่ง ก็ต้องหาอะไรมาบีบจับองค์พระฯ ถ้าใช้กรามเสือจับ ส่วนที่นูนที่สุดขององค์พระ เช่นจมูก หน้าอกขององค์พระฯจะต้องมีรอยบี้ บุ๋มบ้าง แต่นี่เราก็ไม่เห็นเลย เพราะฉะนั้นต้องใช้หินเจียรแต่งโดยใช้มือจับ เมื่อเจียรด้านข้างและด้านหลังก็มีรอยคมเกิดขึ้นที่ขอบพระฯ ดังนั้นจึงใช้หินเจียรลบรอยคมออกอีกทีหนึ่ง

- ด้านข้างองค์พระฯ ที่พื้นที่มีร่องรอยเนื้อเกิน เราจะเห็นมีรอยหินเจียร เจียรออกไป เช่นตามซอกข้างไหล่ ข้างแขน เหนือเศียรพระฯ เป็นต้น ถ้าใช้ตะไบแต่ง จะเข้าไปตามซอกเหล่านี้ได้อย่างไร เพราะตะไบจะยาวเข้าตามซอกไม่ได้ แต่หินเจียรจะโค้งเข้าตามซอกดังกล่าวได้

- ด้านหน้าพระฯ บางครั้งเราจะเห็นมีรอยแหว่งตามหน้าผาก หน้าอก หัวเข่า แขน ไหล่ เป็นต้น เกิดจากการคว่ำหน้าพระฯลงแล้วเอาเข้าไปเจียร ช่างเวลาเจียรถ้าเผลอก็จะโดนองค์พระฯตามที่ต่างๆ เนื่องจากมองไม่เห็น หากใช้ตะไบถูแต่งก็ต้องเห็นตลอด ช่างต้องระวังไม่ให้พระฯแหว่ง

- พระฯหลังเตารีดปลุกเสกในวันที่16-17-18 พ.ค. 2505 เริ่มแจก 19 พ.ค. 2505 พระฯเป็นหมื่นองค์(เฉพาะพระฯที่หล่อที่วัด ก็ต้องมีเป็นพันองค์แล้ว) ถ้าใช้ตะไบแต่งจะต้องใช้เวลานานมาก ไม่ทันแจกวันที่ 19 พ.ค. 2505แน่นอน ดังนั้นผู้เขียนค่อนข้างจะแน่ใจว่าต้องใช้หินเจียรแต่งพระฯ เพราะการใช้หินเจียรแต่งพระฯจะทำได้รวดเร็วกว่ามาก

- แล้วทีนี้ก็มาถึงจุดสำคัญที่ผู้เขียนลงความเห็นในทันทีว่า ต้องใช้หินเจียรแต่งองค์พระหลวงพ่อทวดหลังเตารีด เพราะพระฯหลังเตารีดหลายองค์ที่ช่างแต่งด้านฐาน มีหลายองค์ทีเดียวที่บัวแถวล่างแหว่งไปตั้งค่อนครึ่งแถว ถ้าช่างใช้ตะไบแต่งองค์พระฯ ช่างจะต้องหงายองค์พระฯขึ้นทำให้มองเห็นตลอดเวลาในการแต่งพระฯ โดยปกติช่างจะไม่ทำให้บัวแหว่งเข้าลึกไปอย่างนั้น ช่างจะต้องหยุดก่อนที่พระฯจะแหว่งมากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่เหมือนกับที่ช่างใช้หินเจียรแต่ง เพราะต้องคว่ำหน้าพระฯลงหาหินเจียรจึงมองไม่เห็น แม้ว่าหินเจียรจะกินเนื้อพระฯเข้าไปเยอะแล้ว

ฯลฯ

ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างบนนี้เป็นตัวอย่างให้ท่านผู้อ่านได้เอาไปพิจารณากลั่นกรอง และค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไปจะเชื่อหรือไม่ แล้วแต่ดุลยพินิจของท่าน ผู้เขียนไม่บังคับให้เชื่อตามผู้เขียน หากข้อความข้างบนนี้มีประโยชน์อยู่บ้าง ผู้เขียนขอยกความดีทั้งหมดให้กับบิดา-มารดาของผู้เขียนและกูรูทั้งสามท่านที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น หากมีสิ่งใดผิดพลาด ผู้เขียนขอรับผิดแต่เพียงผู้เดียวและขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

นะโม โพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา

ขออำนาจแห่งองค์สมเด็จหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดโปรดดลบันดาลให้

ท่านผู้อ่านแคล้วคลาดปลอดภัยจากภัยทุกชนิดด้วยเทอญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น